...***ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อก สาขาการบริหารการศึกษา สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยความยินดี อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ "ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม"
เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ "การเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา"***.
..

คิดถึง คิดถึง คิดถึง

สำเร็จสุขสำราญ สู่ผู้บริหารมืออาชีพ

รับขวัญรุ่นน้อง บริหารการศึกษา รุ่น 15

มอบของที่ระลึก อาจารย์ผู้สอน/อาจารย์ผู้ประสานงาน

แสดงความยินดีกับ รุ่นพี่ บริหารการศึกษา รุ่นที่ 13

ภาพบรรยากาศดีๆ บริหารการศึกษา รุ่นที่ 13-14

"ผูกพัน ฮักกัน มั่นแก่น ฮับขวัญน้องใหม่"(บริหารการศึกษา รุ่นที่14 ศก.56)

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พุทธปรัชญา พระมหาปัญญา

ผลงานจากพระมหาปัญญา แสงแก้ว

การนำพุทธปรัชญาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง
มีคำพระท่านกล่าวเอาไว้ว่า  “จะกินต้องเตรียมอาหาร จะทำงานต้องเตรียมคน จะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ จะทำอะไรต้องจริงใจ เข้าใจ เชื่อใจ และมั่นใจ การงานจึงจะสำเร็จได้” ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า พัฒนา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายของ “พัฒนา” ว่าคือ “ทำให้เจริญ” ดังนั้น
การพัฒนาจึงหมายถึง  การทำให้เจริญ
          “การพัฒนา” หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าโดยทั่ว ๆ ไป เช่น การพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ คือการทำสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้น เจริญขึ้น  สนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้ดียิ่งขึ้น  หรืออาจกล่าวได้ว่า “การพัฒนา”เป็นกระบวนการของการเคลื่อนไหวจากสภาพที่ไม่น่าพอใจไปสู่สภาพที่น่าพอใจ การพัฒนาเป็นกระบวนการที่เปลี่ยน
แปลงอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง



          การพัฒนามีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลง  กล่าวคือ
         การพัฒนา หมายถึง  กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผนไว้แล้ว คือการทำให้ลักษณะเดิมเปลี่ยนไปโดยมุ่งหมายว่า ลักษณะใหม่ที่เข้ามาแทนที่นั้นจะดีกว่าลักษณะเก่า สภาพเก่า แต่โดยธรรมชาติแล้วการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดปัญหาในตัวมันเอง  เพียงแต่ว่าจะมีปัญหามาก หรือปัญหาน้อย
         ถ้าหากตีความหมายการพัฒนา      จะสามารถตีความหมายได้ 2 นัย คือ
         1.  “การพัฒนา” ในความเข้าใจแบบสมัยใหม่ หมายถึงการทำให้เจริญในด้านวัตถุ รูปแบบ และในเชิงปริมาณ
เช่น ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
         2.  “การพัฒนา”   ในแง่ของพุทธศาสนา หมายถึง การพัฒนาคนทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ โดยเน้นในด้านคุณภาพชีวิตและหลักของความถูกต้องพอดี  ซึ่งให้ผลประโยชน์สูงสุด ความกลมกลืน และความเกื้อกูลแก่สรรพชีวิต โดยไม่เบียดเบียน  ทำลายธรรมชาติและสภาพแวดล้อม
 เมื่อรู้จักคำว่า พัฒนาแล้ว เราก็มาทำความรู้จัก กันอีกว่า คำว่า พุทธปรัชญา คืออะไร?
พุทธปรัชญาคือ   ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น  เป็นความจริงที่เป็นสัจจะ  ความจริงที่เป็นสากล     เปรียบได้กับความรู้ที่แจ่มแจ้ง  เป็นที่สุดแล้วของความจริง แต่การที่จะรับรู้ความจริงแบบพุทธปรัชญานั้น ต้องการเกิดจากจิตหรือภายในบุคคล ซึ่งตรงนี้แตกต่างกับวิทยปรัชญาที่รับความจริงจากสสารหรือภายนอกบุคคล (สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552) โดยจะได้กล่าวถึงเรื่องหลักการของพุทธปรัชญาต่อไป
พุทธปรัชญาและพุทธศาสนา
        พุทธปรัชญาได้หยั่งลึกในสังคมไทยนานนับพันปี  เพียงแต่ในปัจจุบันกระแสวิทยปรัชญาแบบตะวันตกได้เข้ามาในสังคม อย่างไรก็ตามพุทธปรัชญามีหลายส่วนที่ไม่ได้แตกต่างไปจากวิทยปรัชญาแบบตะวันตก และค่อนข้างโชคดี   สำหรับนักวิทยปรัชญาแบบพุทธะที่ไม่ได้ประสบปัญหา เช่นนักวิทยปรัชญาชาวตะวันตกที่ต้องฝ่าฟันต่อความเชื่อของบุคคลและสังคม อันเนื่องมาจากอิทธิพลของคริสตศาสนา  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าส่วนใหญ่ของวิทยปรัชญาแบบศาสตร์    มีความขัดแย้งกับหลักคริสตศาสนาในขณะที่วิทยปรัชญาแบบพุทธะนั้นมีแนวทางร่วมกันได้กับวิทยปรัชญาแบบศาสตร์(สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. 2552)
       ความรู้ในทางพุทธศาสนามาจากสถานของความคิด ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากแนววิทยปรัชญาและไม่แตกต่างจากหลักศาสนาทั่วไปที่เน้นรากฐานของจิตนิยม (รู้ภายในบุคคล) หลักของความรู้ซึ่งเป็นรากฐานที่จะพัฒนาให้รู้จักแก้ปัญหา โดยอาศัยไตรทวารทั้งสาม คือ กายกรรม (การรับรู้ทางกาย) วิจีกรรม (การสื่อออกทางภายนอก) และมโนกรรม (การสร้างกรอบตามหลักทฤษฎี) (สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)
        ความรู้ที่ตรงจุดนี้จะต้องอาศัยกระบวนการฝึกฝน และพัฒนาความคิดที่มีพื้นฐานจากการเรียนรู้ (สิกขา) อันเป็นหนทาง(มรรค) ที่จะนำไปสู่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อเป็นสัมมาทิฐิ การพัฒนาสัมมาทิฐิ จึงเป็นสาระสำคัญในการพัฒนาปัญหา ซึ่งสติปัญญาจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่องค์ความรู้ที่แท้จริงและสัจจะต่อไป(สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)
       ความจริงหรือสัจภาวะที่มนุษย์เราศึกษาและรู้กันในโลกนี้มีอยู่ 4 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว. 2543) ได้แก่
1. สมมติสัจจะ (Conventional Truth) หมายถึงความจริงขั้นนอกแบบผิวเผินที่คนเราสมมติว่าเป็นจริงและยอมรับกันในชีวิตประจำวัน หากแต่เมื่อได้ศึกษาค้นคว้าลงให้ละเอียดแล้วจะพบว่า ความจริงขั้นนี้ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น มนุษย์เห็นพ้องต้องกันว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกลงในทางทิศตะวันตก หากแต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นและตกแต่อย่างใด ปรากฏการณ์ที่เห็นนั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองต่างหาก
2. สภาวสัจจะ (Empirical Truth) หมายถึงความจริงที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า วินิจฉัย วิเคราะห์ วิจารณ์ให้ลึกซึ้งจนสามารถรู้ความจริงระดับลึกลงไปอีก เช่น การรู้ว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและลงนั้นเกิดจากการหมุนของโลก เป็นต้น
3. ปรมัตถสัจจะ (Metaphysical Truth) หมายถึงความจริงที่อยู่เหนือวิสัยของประสาทสัมผัสของมนุษย์ เช่น ความจริงเกี่ยวกับจิตวิญญาณ นรก สวรรค์ นิพพาน เป็นต้น ซึ่งก็คือความจริงทางอภิปรัชญา
4. อริยสัจจ์ (The Four Noble Truth) หมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์) พระพุทธเจ้าถือว่าทรงสรรเสริญ ความจริงข้อนี้ว่าสูงส่งกว่าความจริงข้อ 1-3 เนื่องจากเป็นความจริงที่ช่วยให้มนุษย์ไปสู่การพ้นทุกข์ได้
     ส่วนการแสวงหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาจะต้องอาศัยอายตนะหรือประตูเชื่อม 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อประตูใดประตูหนึ่ง เช่น ตา ไปกระทบกับอารมณ์คือรูปจึงเกิดผัสสะ  ผัสสะนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ว่า สิ่งที่ไปสัมผัสนั้นคืออะไร (บุญมี แท่นแก้ว. 2543) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้อันทำให้เกิดความคิดนั้นย่อมมีรากฐานมาจากข้อเท็จจริงทางประสาทสัมผัส (สมัคร บุราวาศ. 2537)
       ในคัมภีร์กาลาสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าความรู้เกิดจากแหล่ง 3 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว. 2543) ได้แก่
1. ความรู้ที่ได้จากการฟังตามกันมา เช่น ผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวทโดยตรง เป็นต้น เรียกอีกอย่างว่า “สุตมยปัญญา”
2. ความรู้ที่ได้จากการใช้เหตุผลคาดคะเน เก็งความจริงตามหลักเหตุผล เรียกอีกอย่างว่า “จินตามยปัญญา”
3. ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของผู้แสวงหาความรู้นั้น เรียกอีกอย่างว่า “ภาวนามยปัญญา”
       ในความรู้ทั้ง 3 แหล่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญสูงสุดกับภาวนามยปัญญา ถ้าความรู้จาก 3 แหล่งนี้เกิดขัดแย้งกัน ไม่เห็นสอดคล้องกัน ภาวนามยปัญญาจะเป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดความรู้ที่ถูกต้องและมีน้ำหนักมากที่สุด กล่าวได้ว่าการแสวงหาความรู้ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะของแนวคิดประจักษนิยม (Empirical Knowledge) (บุญมี แท่นแก้ว. 2543)  ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาเน้นการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับ ชีวิตมนุษย์ โดยอาศัยประสาทสัมผัส เหตุผล และการฝึกจิต เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงของชีวิตได้ และพระพุทธศาสนาเชื่อในการมีอยู่ของความจริงสูงสุด
       โดยปกติความรู้ในทางพุทธศาสนาอาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ความรู้ขั้นสมถะซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อของสังคมเพื่อการพิสูจน์ของนักวิทยปรัชญา  ส่วนความรู้ในขั้นที่สูงขึ้นเป็นความรู้ขั้นวิปัสนาเพื่อเป็นอริยสัจ (สัจจะ) ซึ่งเป็นความรู้ ที่ตรงสภาวะแท้จริง (สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)  อย่างไรก็ตามการไปสู่ความรู้ไม่ว่าในระดับใด  จำเป็นต้องอาศัยสัมมาทิฐิเป็นเครื่องมือซึ่งอาจแบ่งสัมมาทิฐิได้เป็น 2 ระดับ  ตามสภาพของความรู้ดังนี้ (สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)  ประการแรกเป็นสัมมาทิฐิในระดับโลกียะ กล่าวคือ เป็นวิทยปรัชญาเพื่อไปสู่ความรู้ขั้นสมถะ ประการที่สองเป็นสัมมาทิฐิระดับโลกุตระกล่าวคือ เป็นวิทยปรัชญาเพื่อไปรู้ความรู้นั้นอริยสัจ  ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นความจริงแท้ ความรู้เหนือศาสตร์ (ความรู้แบบศาสตร์เป็นเพียงความรู้ในระดับโลกียะเท่านั้น) (สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)
       ความรู้ที่ได้มานั้นอริยสัจ ต้องอาศัยการใช้ปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหานั้นไปรู้ความรู้ที่เป็นสัจจะต่อไป โดยใช้อริยมรรค เพื่ออริยสัจประกอบด้วยหนทาง 8 ประการ (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2539) คือ
1.  สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ) หมายถึง มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย (สภาพที่เป็นจริง)
2.  สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ ไม่อคติหรือเอนเอียงเข้าข้างตน
3.  สัมมาวาจา (วาจาชอบ) หมายถึง ถ้อยคำที่สื่อออกมาต้องมีเหตุผล
4.  สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) เป็นการแสดงออกมาในทางสร้างสรรค์ที่ใช้เหตุใช้ผล
5.  สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) หมายถึง การอยู่ในกรอบวิชาชีพและในแนวทางของขอบเขตความรู้
6.  สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) เป็นการพัฒนาความคิดให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก
7.  สัมมาสติ (ระลึกชอบ) หมายถึง การใช้สติสัมปชัญญะกำกับความพยายามเพื่อให้อยู่ในกรอบของความรู้กล่าวคือ ใคร่ครวญอย่างสม่ำเสมอในกิจกรรมที่ตนเองกระทำและถ้อยคำที่ตนเองเป็นผู้กล่าว
8.  สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ) เป็นความแน่วแน่ต่อการพิจารณาไตร่ตรอง
       มีข้อพิจารณาว่าไตรสิกขา อริยมรรค 8 กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นหมายถึง  การสร้างระบบความรู้โดยเริ่มจากการมีระเบียบวินัยในการใช้ถ้อยคำ ในการแสดงออกและในขอบเขตความรู้สำหรับสมาธิครอบคลุมความพยายามที่จะพัฒนาความคิด การใช้สติสัมปชัญญะกำกับและความแน่วแน่ในการพิจารณาไตร่ตรอง ส่วนปัญญา หมายถึง การมีระเบียบ วิธีการให้เหตุผล  ไม่ว่าจะมองอย่างรู้วัตถุวิสัยและความคิดที่เป็นอิสระไม่อคติ ยึดมั่นในความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง จนขาดการพิจารณาในมุมมองอื่น(สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)
       ในแง่ของประโยชน์ พระพุทธศาสนา มุ่งหมายให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ 3 ประการ (พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต).2533) คือ ประโยชน์ปัจจุบันได้แก่ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการดำรงตัวอยู่ในทางโลก ประโยชน์อนาคต คือ การมีหลักศีลธรรมประจำใจ ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปโดยราบรื่น มีอนาคตอันแจ่มใสและประโยชน์สูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง คือสามารถระงับเหตุแห่งทุกข์ คือ กิลเลสตัณหาต่างๆ ได้โดยเด็ดขาด จึงพ้นจากทุกข์โดยสมบูรณ์หรือ วิมุติหรือ ความหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่างๆ
       โดยสรุป พุทธปรัชญาเป็นการแสวงหาความรู้โดยอาศัยหลักความจริงภายนอกและความจริงภายใน เป็นหลักในการแสวงหาองค์ความรู้ซึ่งต้องกำกับโดยสติและปัญญา   อันมีพื้นฐานการรับรู้ที่ได้จากอารมณ์และประสบการณ์ในการนำไปพิจารณาไตร่ตรอง ทั้งนี้ก็แล้วแต่กระบวนการเรียนรู้และการฝึกฝนในการใช้จิตในการเรียนรู้ความจริงภายในของแต่ละบุคคล หากไร้สัมมาทิฐิและปัญญาใคร่ครวญ   โดยรอบตามสภาวะแท้จริงของเหตุปัจจัย   ก็จะทำให้เกิดความรู้ที่เป็นประจักษ์แจ้ง       ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความรู้เชิงศาสตร์ในทางพุทธศาสนา(สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. 2552)เพราะพระพุทธศาสนาเน้นที่จิตใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดทุกข์ และการแก้ทุกข์ ให้คนพ้นทุกข์ เจตนาจึงต่างกับวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ต่าง ๆ และการนำความรู้มาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ แต่ไม่อาจทำให้คนพ้นทุกข์ได้  เพราะไม่มีแนวทางขจัดสาเหตุที่แท้จริงแห่งทุกข์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่สนองความต้องการ ความโลภ และตัณหา อันไม่มีขอบเขตของมนุษย์จึงต้องสนองกันเรื่อยไป ส่วนพระพุทธศาสนามุ่งลดที่เหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา และกิเลส เมื่อลดความต้องการลงได้ก็ไม่จำเป็นจะต้องดิ้นรนหาอะไรมาสนองความต้องการนั้นอีกจึงเป็นวิธีดับทุกข์ที่ตรงเป้าหมาย

เอกสารอ้างอิง
รศ.พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ พร้อมคณะ (2555). ปรัชญาการศึกษา . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บุญมี แท่นแก้ว.  (2543).  ปรัชญากับศาสนา.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต).  (2533). วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ปัญญา.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร:
                 สำนักพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. (2552). วิทยปรัชญา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประสิทธิ์ภัณฑ์ แอนด์ พริ้นติ้ง.
สมัคร บุราวาส.  (2537). พุทธปรัชญา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวการศึกษา

** "สหวิชา ดอท คอม" **