...***ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บบล็อก สาขาการบริหารการศึกษา สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยความยินดี อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ "ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม"
เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ "การเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา"***.
..

คิดถึง คิดถึง คิดถึง

สำเร็จสุขสำราญ สู่ผู้บริหารมืออาชีพ

รับขวัญรุ่นน้อง บริหารการศึกษา รุ่น 15

มอบของที่ระลึก อาจารย์ผู้สอน/อาจารย์ผู้ประสานงาน

แสดงความยินดีกับ รุ่นพี่ บริหารการศึกษา รุ่นที่ 13

ภาพบรรยากาศดีๆ บริหารการศึกษา รุ่นที่ 13-14

"ผูกพัน ฮักกัน มั่นแก่น ฮับขวัญน้องใหม่"(บริหารการศึกษา รุ่นที่14 ศก.56)

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนากับนิติปรัชญา

ของฝากจาก พระมหาปัญญา แสงแก้ว


พระพุทธศาสนากับนิติปรัชญา …ศ.ดร.แสง จันทร์งาม
1. พระพุทธศาสนาในแง่หนึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1.) พระธรรม ได้แก่คำสอนทั่วๆ ไปของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยเนื้อหาสาระสำคัญ 4 ประการ คือ
ก. ธรรมชาติของเอกภพ (Universe)
ข. ธรรมชาติของมนุษย์
ค. วัตถุประสงค์ของชีวิต
ง. ทางไปสู่วัตถุประสงค์นั้น
(2.) พระวินัย ได้แก่คำสั่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น สำหรับสมาชิกชั้นในของพระพุทธศาสนา ได้แก่ภิกษุและภิกษุณี พระวินัยมี 2 ประเภทคือ
ก. ข้อห้ามมิให้ทำ เพราะเป็นความชั่ว และความเสียหาย
ข. ข้อบังคับให้ทำ เพราะเป็นความดีงาม

2. ธรรมชาติของเอกภพ พระพุทธศาสนามองเอกภพในฐานะเป็นสังคมอันหนึ่งอันเดียวที่มีระเบียบระบบเป็นอย่างดี เอกภพในพระพุทธศาสนา มีลักษณะคล้ายคลึงกับดาราศาสตร์สมัยปัจจุบัน ระบบสุริยะที่โลกของเราเป็นบริวารอยู่ เป็นจักรวาลหนึ่ง หลายๆ จักรวาลรวมกันเข้าเป็นโลกธาตุ (พอจะเทียบได้กับกาแลกซี) โลกธาตุมีขนาดต่างๆ กัน โลกธาตุขนาดใหญ่อาจมีจักรวาลถึง 1,000,000,000,000 จักรวาล เอกภพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแล้วเกิดขึ้นอีกเป็นวัฏจักร ตามกฎธรรมชาติ ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีผู้สร้างหรือผู้ทำลาย



3. สัตว์ (Beings-สิ่งมีชีวิตจิตใจ) ในเอกภพ ในเอกภพมีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมาย คล้ายกับพลเมืองของประเทศ แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท


1. อรูปสัตว์ (อรูปพรหม) ได้แก่สัตว์ที่ไม่มีรูปที่เป็นสสารใดๆ ชีวิตของเขาประกอบด้วยพลังงานจิต (psychic energy) ล้วนๆ มีอยู่ 4 ชั้นหรือจำพวกตามคุณภาพจิต


2. รูปสัตว์ (รูปพรหม) ได้แก่สัตว์ที่มีรูปละเอียด มีความสุขจากความสงบทางจิตอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับกาม มี 16 ชั้น


3. กามสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่อาศัยกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มี 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ เทพในสวรรค์ 6 ชั้น มนุษย์ในโลก 1 ชั้น สัตว์เดียรฉาน 1 ชั้น อสุรกาย 1 ชั้น เปรต 1 ชั้น นรก 1 ชั้น รวมสัตว์ทั้งหมดในเอกภพได้ 31 ชั้นหรือประเภท อาศัยอยู่ในภูมิ (ที่อยู่) ต่างๆ 31 ภูมิ


4. สถานะของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์อยู่ระดับกลางๆ ระหว่างสูง (เทพ 6 ชั้น รูปพรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้น) และต่ำ (สัตว์เดียรฉาน อสุรกาย เปรต นรก) มนุษย์ตายแล้ว อาจไปเกิดในภูมิสูงหรือต่ำก็ได้แล้วแต่คุณภาพจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำไว้ แต่ไม่ว่าจะไปเกิดในภูมิใดก็อยู่ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น สิ้นกรรมแล้วจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก แต่มนุษย์และโลกมนุษย์เหมาะสมที่สุดสำหรับการรู้สัจธรรมและบรรลุนิพพาน กฎแห่งกรรมเป็นผู้ควบคุมสัตว์ทั้งหลายในเอกภพ 5. ธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ รูป (ร่างกาย สสาร) และ นาม (จิต ใจ)


1. รูป ได้แก่ร่างกาย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นของแข็ง (Solid) หรือธาตุดิน, ส่วนที่เป็นของเหลว (Liquid) หรือธาตุน้ำ, ส่วนที่เป็นไอ (gas) หรือธาตุลมและส่วนที่เป็นพลังงานความร้อน (Heat energy) หรือธาตุไฟ รูปเป็นส่วนที่พ่อแม่เตรียมไว้ในครรภ์มารดา และเกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายไป ตามกฎธรรมชาติทางกายภาพ


2. นาม ที่เป็นตัวหลักเรียกว่า จิตบ้าง วิญญาณบ้าง จิตนี้ถ้าอยู่ในภาวะหลับสนิท หรือสลบ หรือตาย เรียกว่า ภวังคจิต (จิตที่เป็นปัจจัยแห่งความมีชีวิตอยู่) ถ้าจิตตื่นขึ้นทำหน้าที่ เรียกว่าวิถีจิต จิตทำหน้าที่ 4 อย่างคือ


ก. รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มโนภาพ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า วิญญาณ(Consciousness)


ข. จำอารมณ์ทั้ง 6 ได้ว่าอะไรเป็นอะไร เรียกว่า สัญญา (Perception)


ค. เกิดความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจหรือเฉยๆ เกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า เวทนา (Feeling)


ง. เกิดความเอาใจใส่ แล้วคิดเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า สังขาร (thought formation) ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ จิตทำงานตามกระบวนการ 4 ขั้นนี้ แต่กิริยาอาการทำงานทั้ง 4 นี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้ในเวลาฝัน จิตก็ยังทำงานครบทั้ง 4 ขั้นนี้


6. ชีวิตดำเนินไปได้อย่างไร ชีวิตดำเนินไปตามกาล-อวกาศได้เพราะกฎแห่งกรรม ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ 1. แรงกระตุ้นใจ (mental drives) มี 2 ฝ่าย ฝ่ายลบเรียกว่ากิเลส เช่น โลภ โกรธ หลง ฝ่ายบวกเรียกว่า คุณธรรม เช่น เอื้อเฟื้อ สงสาร เห็นใจ ปัญญา


2. เจตนา (volition) มี 2 ลักษณะคือ ความตื่นตัว รู้ตัวก่อนทำและกำลังทำ ถ้าไม่รู้ตัว เช่น หลับ ไม่เป็นกรรม ลักษณะที่ 2 คือ มีเป้าหมายแน่นอน (purposefulness) ว่าทำเพื่ออะไร ถ้าผลที่เกิดขึ้นผิดจากเป้าหมาย ไม่เป็นกรรม ถ้าผลต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นกรรมน้อยลง


3. การกระทำ (action) คือการแสดงกิจกรรมออกมา 3 ทางคือ ก. ทางใจ ได้แก่การคิด เรียกว่า มโนกรรม ข. ทางวาจา ได้แก่การพูด เรียกว่า วจีกรรม ค. ทางกาย ได้แก่การทำ เรียกว่า กายกรรม


4. ผลของการกระทำ (กัมมวิบาก) มี 2 ประเภท คือ


1. ผลโดยตรง ได้แก่พลังกรรม (Karmic energy) หรือกัมมพละที่เกิดขึ้นทันทีโดยธรรมชาติและโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าผู้กระทำจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม เกิดขึ้นแล้วเก็บไว้ในใจ พลังกรรมทำหน้าที่ดังต่อไปนี้


ก. กระตุ้นหรือสนับสนุนให้ทำกรรมนั้นๆ ซ้ำอีก พลังกรรมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพลังกรรมพื้นฐานของจิต เรียกว่า จริต หรืออุปนิสัย หรือสันดาน


ข. ช่วยรักษากระแสชีวิตไว้


ค. กำหนดทิศทางและสภาพของชีวิตในอนาคต อดีตกรรม กำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกรรมกำหนดอนาคต เราสร้างตัวเองทุกขณะ


ง. เป็นตัวทำให้มีการเกิดใหม่


จ. คอยจังหวะให้ผลทางอ้อม (ดูข้างล่าง)


2. ผลโดยอ้อม ผลพลอยได้อาจมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ผลโดยอ้อมมี 3 อย่าง


ก. ผลทางอารมณ์ ได้แก่ความรู้สึกสบายใจจากกรรมดี ความรู้สึกไม่สบายใจจากกรรมชั่ว


ข. ผลทางกาย ได้แก่ความเปลี่ยนแปลงทางกายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพจิต (psychosomatic) เช่น สุขภาพกาย ผิวพรรณ เป็นต้น


ค. ผลทางสังคม คือปฏิกิริยาจากคนอื่น จากกฎหมายบ้านเมือง เพื่อตอบสนองการกระทำ การกระทำที่ไม่ใช่กรรมสมบูรณ์ แต่มีผลกระทบต่อสังคม ก็ให้ผลทางสังคมได้ ไม่มีใครหนีพ้นผลทางสังคมได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ได้รับผลทางสังคมมาแล้ว พลังกรรมเกิดขึ้นและถูกเก็บไว้ เหมือนการเคลื่อนไหวของนาฬิกาอัตโนมัติ เกิดพลังงานขึ้นส่งไปเก็บไว้ในลาน การให้ผล (ทางสังคม) ของกรรม เหมือนคนสะกดจิตสั่งให้คนถูกสะกดจิตทำอะไรบางอย่างเมื่อตื่นขึ้นตามเวลาที่สั่งไว้ เมื่อถึงเวลา เขาก็ทำจริงๆ โดยไม่รู้ตัว คุณภาพกรรม กรรมแบ่งเป็น 3 ตามคุณภาพ คือ


1. กุศลกรรม กรรมดี


2. อกุศลกรรม กรรมชั่ว


3. อัพยากตกรรม กรรมกลางๆ เกณฑ์ตัดสินคุณภาพกรรม กรรมจะเป็นกรรมดีหรือชั่ว ขึ้นอยู่กับเกณฑ์


4 อย่าง คือ


1. แรงกระตุ้นใจเป็นกิเลสหรือคุณธรรม


2. เจตนาดีหรือร้าย


3. การกระทำเป็นการสร้างหรือทำลาย ถูกหรือผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีงาม


4. ผลที่เกิดขึ้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ ในบรรดาเกณฑ์ทั้ง 4 เจตนามีน้ำหนักมากกว่าตัวอื่นๆ


ลักษณะอื่นๆ ของกรรม


1. พลังกรรมที่อยู่ในใจ ถ้าไม่ทำซ้ำอีก จะอ่อนกำลังลง และหายไปในที่สุด ตามหลักอนิจจัง


2. พลังกรรมถ้าไม่มีโอกาสให้ผล (ทางสังคม) จะอ่อนกำลังลง แม้จะมีโอกาสก็ไม่อาจให้ผลได้ กลายเป็นอโหสิกรรม เหมือนทุ่นระเบิดด้าน


3. พระอรหันต์ทำอะไร ไม่เกิดพลังกรรม เพราะไม่มี “อวิชชา” เป็นฐานรองรับไว้


4. บาปคือพลังกรรมฝ่ายดำ บุญคือพลังกรรมฝ่ายขาว ดังนั้น เราอาจลดหรือทำลายพลังบาปได้ด้วยพลังบุญ


7. การเวียนว่ายตายเกิด (สังสาระ วัฏสังสาระ) ชีวิตมีการเวียนว่ายตายเกิด คือตายแล้วยังมีการเกิดใหม่เรื่อยไปตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิด สังสาระจะสิ้นสุดลงเมื่อบรรลุนิพพาน เหตุผลสนับสนุนการเวียนว่ายตายเกิด


1. พระพุทธเจ้าสอนไว้จริง มีทั่วไปในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือที่สุด


2. พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดจากประสบการณ์ของพระองค์เองในวันตรัสรู้ ไม่ได้เรียนรู้มาจากใคร 3. จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือการตายแล้วไม่เกิด (ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย) ถ้าคนตายแล้วไม่เกิด ก็เท่ากับว่า บรรจุถึงนิพพานโดยอัตโนมัติ ถ้าอย่างนั้นมรรคมีองค์ 8 หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่มีความหมาย


4. ถ้าตายแล้วสูญ ความยุติธรรมก็ไม่มี เพราะคนชั่วบางคนยังไม่ได้รับผลกรรมชั่วในชาตินี้ คนดีบางคนยังไม่ได้รับผลของกรรมดี


6. คนเราเกิดมาแตกต่างกันทั้งกาย – ใจ ทฤษฎีเทวนิยม ทฤษฎีพันธุกรรม ทฤษฎีสิ่งแวดล้อม ยังอธิบายเหตุแห่งความแตกต่างได้ไม่น่าพอใจ แต่เรื่องตายแล้วเกิดและกฎแห่งกรรมอธิบายได้


7. ในธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างมีกลไก การสืบต่อสายพันธุ์ของมันไว้ จิตใจก็มีกลไกการสืบต่อตัวมันเองไว้เช่นเดียวกัน คำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท อธิบายกลไกการสืบต่อสายชีวิตไว้อย่างดี


8. มีคนเป็นอันมากสามารถจำหรือระลึกชาติก่อนได้ คนจำชาติก่อนได้มี 3 ประเภท


ก. จำได้เอง เช่น เด็กๆ พอพูดได้ก็เล่าเรื่องชาติก่อนให้ พ่อแม่ฟัง Dr. Ian Stevenson แห่งมหาวิทยาลัย Virginia ได้ศึกษาและยืนยันเรื่องนี้ไว้


ข. จำได้เพราะถูกสะกดจิต (ใช้กันมากในวงการจิตเวช)


ค. จำได้ด้วยอำนาจญาณพิเศษที่เกิดจากการเข้าฌาน


9. มีปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณ (Psychic Phenomena) มากมายที่แสดงว่าตายแล้วไม่สูญ เช่น การติดต่อกับคนตายโดยทางความฝัน การเข้าทรง การเล่นผีถ้วยแก้ว การปรากฏตัวของคนตายในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น 8. วัตถุประสงค์ของการเวียนว่ายตายเกิด คือการเรียนรู้ เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เมื่อถึงที่สุด (ตรัสรู้) แล้วจะได้ยุติการเวียนว่ายตายเกิด (บรรลุนิพพาน) ถ้าเรามองชีวิตแบบนี้ เราจะสนุกสนานเพลิดเพลินกับชีวิต เราจะเห็นว่า


1. เราเป็นนักเรียนตลอดชาติ เราเกิดมาเรียนรู้ เราจะรู้สึกเป็นหนุ่มสาวตลอดชาติ


2. โลกทั้งโลกจะเป็นมหาวิทยาลัย มหา วิทยาลัยโลก (World University)


3. ทุกแห่งจะเป็นห้องสมุดเต็มไปด้วยหนังสือที่น่าอ่าน


4. ทุกสิ่งรอบตัวเราและแม้ตัวเราเองก็เป็นหนังสือหรือตำราที่บรรจุเอาความจริงที่น่ารู้ไว้นับร้อยนับพัน


5. ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าร้ายหรือดีล้วนเป็นบทเรียน บทเรียนบางบทอาจยากลำบาก เราอาจเรียนด้วยน้ำตา แต่มันก็มีค่า มันจะทำให้เราฉลาดและแข็งแกร่งขึ้น


6. ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นครูของเรา แม้คนขอทานก็อาจเป็นครูของเราได้ เขาอาจรู้ศิลปะการขอทานได้ดีกว่าเรา


7. แม้ความตายก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เป็นเพียงการจากชั้นเรียนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น


8. ชีวิตเป็นการท่องเที่ยวทัศนศึกษา พ่อ แม่ สามี ภรรยา บุตร ฯลฯ เป็นเพียงเพื่อร่วมคณะนักท่องเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยวสิ้นสุดลง ก็ต่างแยกย้ายกันไปตามทางของใครของมัน คุณค่าของความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิด


1. ทำให้มีโอกาสแก้ตัวได้ ชาตินี้ไม่สำเร็จ ชาติหน้ายังมีโอกาสแก้ตัวใหม่ ทำให้ชีวิตมีความหวัง


2. ทำให้มีความรับผิดชอบต่อการกระทำมากขึ้น เพราะทุกอย่างมีความหมายต่ออนาคต


9. ความจริงหลักของชีวิต ชีวิตมีความจริงหลักที่ควรรู้ 3 ประการคือ


1. ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนตลอดเวลา (อนิจจัง) ของชีวิต ทุกชีวิตไหลไปตามกระบวนการเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป


2. ความไม่สบาย ความเจ็บปวด ความบกพร่อง การต่อสู้เพื่อแก้ไขความไม่สบาย (ทุกขัง)


3. ความไม่ใช่ของเรา ความไม่ใช่เรา ความไม่มีตัวเราที่เป็นอมตถาวร (อนัตตา) ทุกสิ่งเป็นเพียงกระแสธรรมชาติที่ไหลไปตามกฎเกณฑ์ของมันเอง เราไม่อาจบังคับบัญชามันได้ สรุปแล้ว ชีวิตตามที่เป็นอยู่ยังไม่น่าพอใจ ยังไม่สมบูรณ์ ยังเกิด แก่ เจ็บ ตาย และมีความทุกข์อื่นๆ ทั้งทางกาย และทางใจ 10. วัตถุประสงค์ของชีวิต วัตถุประสงค์ของชีวิต มี 3 ชั้น ท่านเรียกว่า ประโยชน์หรืออัตถะ คือ


1. ประโยชน์ปัจจุบัน หมายถึงความมีชีวิตอยู่อย่างสบาย เป็นส่วนตัวและครอบครัว เพราะมีวัตถุทรัพย์


2. ประโยชน์เบื้องหน้า หมายถึงความอยู่สุขสบายอยู่ท่ามกลางผู้อื่น ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า


3. ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ความสงบสุขสูงสุด ที่เกิดจากการดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง


11. ทางปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ


1. ประโยชน์ปัจจุบัน บรรลุถึงได้ด้วย ความขยันหาทรัพย์ รู้จักรักษาทรัพย์ คบเพื่อนที่ดี ดำรงชีพอย่างเหมาะสม


2. ประโยชน์เบื้องหน้า บรรลุถึงได้ด้วย ศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ศีล – การงดเว้นจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น จาคะ – การสละส่วนเกินออกช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ปัญญา – แสวงหาและมีความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม


3. ประโยชน์สูงสุด อาจบรรลุถึงได้ด้วย ศีลคือการเว้นจากความชั่วทั้งปวง สมาธิ – คือการทำจิตให้สงบ ระงับความฟุ้งซ่าน สงบนิ่ง ใสสะอาด ปัญญา – พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกทีหนึ่ง จนเกิดความรู้ชั้นสูง สามารถรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรู้แล้วจิตใจก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง (to learn is to change) ดังนี้


ก. เมื่อรู้อนิจจัง จิตใจจะไม่ยึดติดในสิ่งใด เพราะถ้ายึดติดจะผิดหวังและเป็นทุกข์ทันที จะเตรียมใจไว้เผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต จะมองสิ่งต่างๆ ไว้ครบทุกด้าน หวังไว้ทุกด้านเมื่อด้านใดด้านหนึ่งแสดงตัวออกมา จะไม่ผิดหวัง จะเป็นคนสมหวังตลอดกาล


ข. เมื่อรู้ทุกขัง จะคุ้นเคยกับทุกข์ เมื่อเผชิญหน้ากับทุกข์จะไม่ทุกข์มาก จะไม่เสียขวัญ จะหาทางแก้ทุกข์ตามเหตุปัจจัย จะไม่กลัวตาย เมื่อหันไปมองดูผู้อื่นสัตว์อื่นที่กำลังลอยคออยู่ในทะเลทุกข์ จะเกิดความสงสารเห็นใจ จะไม่เบียดเบียนใคร มีแต่จะหาทางช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์


ค. เมื่อรู้อนัตตาจะไม่หลงตน หลงคน หลงทรัพย์ จะอยู่ในโลก แต่เหนือโลกนิดหน่อย จิตใจจะมีแต่ความสว่างด้วยความรู้ (วิชชา) สะอาด (วิสุทธิ) เพราะไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออยู่ สงบเย็น (สันติ) เพราะไม่มีกิเลสรบกวน และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (กรุณา) สภาพจิตเช่นนี้ คือนิพพาน ในปัจจุบัน สรุปลักษณะสำคัญของพุทธธรรม พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญๆ ดังต่อไปนี้


1. เป็นศาสนาแบบเหตุผลนิยม(rationalistic) เคารพหลักเหตุผล สอนทุกอย่างตามหลักเหตุผล


2. เป็นศาสนาแบบธรรมชาตินิยม (Naturalistic) สอนตามหลักความเป็นจริงในธรรมชาติ ไม่มีอะไรอยู่เหนือธรรมชาติ นิพพานก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ


3. เป็นศาสนาแบบมนุษยนิยม (Humanistic) โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ ของมนุษย์ แม้แต่เทพก็เป็นเพื่อนร่วมสังสาระเช่นเดียวกับมนุษย์


4. เป็นศาสนาแบบปฏิบัตินิยม (pragmatic) เน้นการกระทำของมนุษย์ สอนแต่สิ่งที่ปฏิบัติได้ ปรับคำสอนเดิมแบบพราหมณ์ ที่เน้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เป็นการปฏิบัติของมนุษย์ เช่น มงคล 38 ทิศ 6 เป็นต้น


5. เป็นศาสนาสากล (Universalistic) เพราะสอนคำสอนที่เป็นความจริงสากล ใครๆ ก็เรียนรู้และปฏิบัติตามได้ ปฏิบัติครบถ้วนแล้วก็ได้บรรลุธรรมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชาติหรือศาสนาใด


6. เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ครบถ้วน (Complete) เพราะสอนคำสอนครบทั้งระดับต่ำ ระดับกลางและระดับสูง ทั้งระดับปัจจุบัน ระดับอนาคตและเหนือทั้ง 2 อย่างทั้งระดับโลกนี้ โลกหน้า และเหนือโลกทั้ง 2
7. เป็นศาสนาทางสายกลาง (Middle Way) ไม่ใช่วัตถุนิยม ไม่ใช่จิตนิยม ในทางปฏิบัติ ไม่หย่อนเกินไป ไม่เคร่งเกินไป ในด้านผลมุ่งจิตสงบเป็นกลาง ไม่ฟุ้ง ไม่ฟุบ
8. เป็นศาสนาแบบประชาธิปไตย (Democratic) ยอมรับความเท่าเทียมกันโดยกำเนิดของมนุษย์ ไม่มีวรรณะ ให้เสรีภาพแม้ทางความคิด (กาลามสูตร) ไม่บังคับให้เชื่อเคารพภูมิปัญญาของมนุษย์ ให้สงฆ์ (หมู่คณะ ประชาชน) เป็นใหญ่ในการบริหาร
9. เป็นศาสนาสันตินิยม (Pacifistic) สอนให้คนมีเมตตากรุณาต่อกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ใช้ทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งประจักษ์เป็นฐานของเมตตากรุณา จึงได้ผลดีกว่าใช้สิ่งไม่ประจักษ์เป็นฐาน ดังนั้นจึงไม่เคยมีสงครามในพระนามของพระพุทธเจ้า พระวินัย (Discipline)
1. พระวินัยเป็นประเภทคำสั่งของพระพุทธเจ้า สำหรับบุคคลที่เป็นสมาชิกชั้นในของพระพุทธศาสนา สถาบันสงฆ์เป็นสมาคมที่มีกฎระเบียบ ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกคือพระสงฆ์หมายถึงผู้เลื่อมใสศรัทธาในอุดมการณ์ของสมาคมนั้น จึงยอมตัวเข้ามาเป็นสมาชิก และยินดีจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทุกอย่าง
2. เดิมทีเดียว วินัยกับศีลมีความหมายเดียวกัน ต่อมาแยกกันข้อห้ามสำหรับพระเรียกว่า วินัย มีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย เรียกว่า อาบัติ ข้อห้ามสำหรับฆราวาสไม่มีบทลงโทษระบุไว้ แต่ถ้ารุนแรงก็อาจมีโทษทางกฎหมายบ้านเมืองด้วย เรียกว่าศีล
3. พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ล่วงหน้า แต่ทรงบัญญัติทีละข้อตามการกระทำที่ไม่เหมาะสมของพระเกิดขึ้น ในระยะแรกๆ ยังไม่มีวินัยเลย เพราะพระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ไม่ทำความชั่วใดๆ โดยอัตโนมัติ วินัยจึงไม่จำเป็น
4. ประมาณ 1 ปีหลังจากการตรัสรู้ มีคนธรรมดาเข้ามาบวช และเริ่มทำความผิด จึงทรงเริ่มบัญญัติพระวินัย วินัยข้อแรกคือห้ามพระทำเพศสัมพันธ์ พระสุทินเป็นผู้ทำผิดเป็นองค์แรก
5. เมื่อมีผู้ทำผิดเรื่องเดียวกันในรูปแบบใหม่ ก็ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมทีละข้อเรียกว่า อนุบัญญัติ
6. วินัยของพระภิกษุและภิกษุณี มีโทษหนัก – เบาต่างกัน ดังนี้
ก. โทษหนัก ขาดจากความเป็นพระ เรียก ปาราชิก มี 4 ข้อ
ข. โทษหนักรองลงมา ต้องอยู่กรรม เรียก สังฆาทิเสส มี 13 ข้อ
ค. โทษหนักแต่ไม่แน่ ต้องสอบสวนก่อน เรียก อนิยต มี 2 ข้อ ง. โทษเบา–หนัก ต้องสละของแล้วแสดงอาบัติเรียกว่า นิสัคคียปาจิตตีย์ มี 30 ข้อ จ. โทษเบาอย่างกลาง ต้องแสดงอาบัติ เรียกว่าปาจิตตีย์ มี 92 ข้อ ฉ. โทษเบาอย่างเบา ต้องแสดงคืน เรียกปาฏิเทศนียะ มี 4 ข้อ ช. โทษเล็กน้อย ต้องแสดงอาบัติ เรียกเสขิยะ มี 75 ข้อ ซ. วิธีระงับอธิกรณ์ เรียกอธิกรณสมถะ มี 7 ข้อ 7. พระวินัยบัญญัติขึ้นตามกาละ เทศะและเหตุการณ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงอยู่เสมอ 8. ก่อนดับขันธปรินิพพาน ทรงอนุญาตให้สงฆ์ยกเลิก วินัยเล็กน้อยบางข้อได้. ****************


ศาสนาเปรียบเทียบ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าวการศึกษา

** "สหวิชา ดอท คอม" **